ชิลีเป็นหนึ่งในประเทศแถบอเมริกาใต้ เมื่อพูดถึงทวีปนี้หลายคนอาจนึกถึงความยากจน ยาเสพติด ป่าอเมซอน วัฒนธรรมจากการเป็นเมืองขึ้นของยุโรป และความขัดแย้งทางการเมือง
แต่รู้หรือไม่ว่าเบื้องหน้าของภาพลักษณ์เหล่านี้ แฝงด้วยความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากร และความมั่งคั่งทางการเงินที่หลายคนอาจยังไม่รู้ ซึ่งประเทศชิลิ ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นชาติที่มีเสรีภาพด้านเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งๆ ที่อยู่ในทวีปที่มีสัดส่วนประเทศยากจนมากกว่าร่ำรวย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ไปหาคำตอบกัน
ประเทศชิลีมีประชากร 18 ล้านคน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ในนิกายต่างๆ คนชิลีจะพูดภาษาสเปนเป็นภาษาหลัก และประเทศนี้ปกครองกันแบบสาธารณรัฐโดยอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ประธาณาธิบดี
ข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมของชิลี หรือ GDP ในปี 2020
GDP ทั้งหมดอยู่ที่ 245,414 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7.9 ล้านล้านบาท
GDP ต่อหัวอยู่ที่ 23,455 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 764,034 บาท
เมื่อกางแผนที่โลกจะพบว่าชิลีอยู่ทางตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ดินแดนทั้งหมดมีลักษณะทอดยาวติดกับมหาสมุทรแปซิปิก ซึ่งมีพื้นที่ 756,096 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าประเทศไทย 1.47 เท่า
แม้ภูมิประเทศทางตอนเหนือจะมีความแห้งแล้ง แต่ทุกโซนนั้นติดกับทะเล และทางตอนล่างมีภูเขาสูง ทำให้ชิลีเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ในการไปเยือนธรรมชาติสักครั้งในชีวิต ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของชิลีเป็นดั่งเพชรเม็ดงามแห่งอเมริกาใต้
รู้ไหมนอกจากจะเป็นความงามแห่งทวีปแล้ว ในพื้นที่ทะเลทรายทางตอนเหนือมีแร่ธาตุที่สำคัญทางเศรษฐกิจมากมาย โดยส่วนใหญ่จะเป็นทองแดงและไนเตรต ซึ่งประเทศชิลีถือได้ว่าเป็นเหมืองทองแดงที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ฉะนั้นเศรษฐกิจของชิลี จึงขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองแดงเป็นหลัก โดยรัฐบาลเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้อย่างเสรี
ข้อมูลจาก U.S. Geological Survey รายงานว่า ปริมาณสำรองแร่ทองแดงของทั้งโลกมีประมาณ 690 ล้านตัน ซึ่งมากที่สุดอยู่ในประเทศชิลีประมาณ 190 ล้านตัน หรือถ้าคิดเป็นสัดส่วนจะเป็นเค้กชิ้นใหญ่ถึงร้อยละ 27.5 ของปริมาณแร่ทองแดงทั้งหมดของโลกเลยทีเดียว
อย่างในปี 2018 KGHM บริษัทเหมืองแร่รายใหญ่ของจากโปแลนด์ประกาศลงทุนในโครงการเหมืองแร่ Sierra Gorda ทางตอนเหนือเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และนั่นถือเป็นข่าวประโคมที่ส่งผลกระทบด้านบวกมาถึงประเทศไทย เพราะชิลีนำเข้ารถกระบะที่ใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศไทยมากที่สุด เมื่ออุตสาหกรรมเหมืองแร่ของชิลีขยายตัวเพิ่ม ย่อมส่งผลดีกับการนำเข้ารถกระบะจากไทยนั่นเอง
นอกจากจะเป็นเหมืองทองแดงของโลกแล้ว ชิลียังมีจุดเด่นในสินค้าอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะไวน์ ชิลีส่งออกไวน์อันดับที่ 5 ของโลก มีมูลค่า 57,000 ล้านบาท รองจากฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ชิลีสามารถเทียบชั้นได้
ด้วยนโยบายการค้าและเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเสรี เอื้อแก่การลงทุนจากบริษัทต่างๆ ทั่วโลก จุดนี้นับว่าเป็นไม้แข็งของเสรีภาพทางเศรษฐกิจของชิลี ซึ่งถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก
แม้พัฒนามาไกล แต่ความขัดแย้งภายในไม่เคยจาง
ทำไมเพชรเม็ดงามแห่งอเมริกาใต้ ถึงมีความขัดแย้งภายในอยู่บ่อยครั้ง?
เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ของชิลี อดีตของพวกเขาไม่ได้เดินทางบนพรมแดงที่โปรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะที่ผ่านมาต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ภายในนับไม่ถ้วน รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง
ต้นศตวรรษที่ 20 เกิดเหตุจราจลจากชนชั้นแรงงานหลายหน โดยมีสาเหตุมาจากคุณภาพชีวิตของแรงงานที่ต่ำ กล่าวคือ แรงงานทำงานวันละ 12-14 ชั่วโมงเพื่อแลกกับค่าจ้างที่ต่ำมาก จึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มนัดหยุดงานและเดินขบวนเรียกร้องจากรัฐบาล
ระหว่างปี 1911-1920 มีการนัดหยุดงานและเดินขบวนถึง 293 ครั้ง และบางครั้งก็มีการตอบโต้จากรัฐบาลด้วยความรุนแรง
บางครั้ง มีการเข้ายึดอำนาจของเผด็จการทหาร ซึ่งนำมาซึ่งความซำ้ซากในเรื่องของปัญหาคอร์รัปชัน และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ผลสุดท้ายก็มีการออกมาเรียกร้องจากประชาชนอยู่ดี
ปี 1931 หรือปี พ.ศ. 2474 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วทั้งโลก โดยมีสาเหตุมาจากเงินเฟ้อหลังจากสิ้นสุดสงคราม ผู้คนซื้อขนมปัง 1 ก้อนในราคาที่แพงกว่าเดิม ชนชั้นกลางจากที่เคยกินดีอยู่ดีมีมาตรฐานการครองชีพลดลงใกล้ชิดกับชนชั้นแรงงาน
สถานการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การเลือกตั้งโดยที่ “อาร์ตูโร อเลสซานดรี” ก้าวขึ้นมาปกครองประเทศ ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสมัยใหม่ตามเทรนด์โลก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศชิลี อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญด้านเสรีประชาธิปไตยของชิลี และปัจจุบันก็ยังใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวอยู่
สถานการณ์ความขัดแย้งของชิลีเคยเลวร้ายที่สุดในปี 1973 เมื่อมีการนัดหยุดงานของกลุ่มแพทย์ ครู นักศึกษา คนงานเหมืองทองแดง และกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก นำมาซึ่งเหตุผลในการรัฐประหารยึดอำนาจ จากประธานาธิบดีซัลบาดอร์ อาเยนเด แห่งพรรคสังคมนิยมที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้ง และผู้บัญชาการทหารบกที่อาเยนเดเคยแต่งตั้ง นายพลเอากุสโต ปิโนเช ก็ขึ้นมาปกครองอำนาจในประเทศแทน
อย่างไรก็ดี ชาวชิลีต่อต้านระบบการปกครองปิโนเชจนอ่อนแอ และในที่สุดก็กำจัดอิทธิพลปิโนเชหมดสิ้นลงได้ในปี 1988
ในช่วงการปกครองของปิโนเช ประชาชนชาวชิลีเริ่มมีเสรีภาพในการชุมนุมเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลก็ได้มีการปฏิรูปไปสู่เศรษฐกิจแบบเสรี เปิดโอกาสให้มีการลงทุนในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น แม้ว่าเวลานั้น จะยังไม่เปิดเสรีด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่อย่างปัจจุบันก็ตาม
ในปี 2019 ได้มีการชุมนุมของประชาชน เพื่อเรียกร้องถึงค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าโดยสารรถไฟใต้ดินที่แพงขึ้น รวมไปถึงความไม่เท่าเทียมกันที่แพร่หลายในประเทศ นำมาซึ่งการลงประชามติใหม่
และได้มีการจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ ซึ่งในวันที่ 19 ธันวาคม 2021 กาเบรียล บอริก อดีตแกนนำนักศึกษาที่ออกมาชุมนุมในปี 2019 วัย 35 ปี ชนะเลือกตั้ง ทำให้เขากลายเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ชิลี
แหล่งอ้างอิง
The post ชิลี ประเทศพัฒนาแล้วแห่งเดียวในลาติน และมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจติดอันดับโลก appeared first on Reporter Journey.
The post ชิลี ประเทศพัฒนาแล้วแห่งเดียวในลาติน และมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจติดอันดับโลก appeared first on Reporter Journey.