
จากกรณีที่ ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ได้เดินทางไปขึ้นศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 14 มกราคม ในคดีที่ศาลนัดไต่สวนกรณี บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กับพวกยื่นฟ้อง เลขาธิการ คปภ. ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย โควิด-19 รวมถึงขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งนายทะเบียน เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี หรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษา
เบื้องต้น ศาลได้มีการไต่สวนตรวจสอบข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาว่าจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่ ในระหว่างที่ศาลฯ ยังไม่ได้รับฟ้องและมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวฯ ทำให้ประกันภัยโควิด แบบ “เจอ จ่าย จบ” ยังให้ความคุ้มครอง สามารถเคลมประกันได้ตามปกติ
ในทางกลับกัน หากศาลฯ รับฟ้องและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว คาดว่า บริษัทประกันจะนำคำสั่งศาลมาเป็นเครื่องมือและอ้างในการนำมายกเลิกสัญญากับผู้เอาประกันภัย จนอาจทำให้ผู้เอาประกันภัยโควิดทั้งหมดกว่า 10 ล้านคนถูกลอยแพ
อย่างไรก็ตามการมาขึ้นศาลปกครองกลางครั้งนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้ส่งข่าวแจ้งสื่อมวลชนว่า ติดเชื้อโควิด-19 และกำลังเข้ารักษาตัวอยู่ แม้จะทำการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิป้องกันโควิดไปจำนวน 4 เข็มแล้ว ไทม์ไลน์ในวันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2565 ช่วงเช้าแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนบริเวณหน้าตึกศาลปกครองกลางและเข้าชี้แจงคดีที่ห้องพิจารณาคดี สวมหน้ากากอนามัยสองชั้นตลอดเวลา ยกเว้นช่วงรับประทานอาหารกลางวันที่ห้องอาหารศาลปกครองกลาง ซึ่งแยกมาทานโต๊ะเดี่ยว
ต่อมาวันที่ 15 มกราคม 2565 เลขาฯ คปภ.เริ่มมีอาการคล้ายๆ แพ้อากาศ คัดจมูก และมีไข้เล็กน้อย จึงตรวจ ATK (ช่วงบ่าย) ผลเป็นบวก จึงรีบไปตรวจ RT- PCR ที่โรงพยาบาล แล้วรีบกักตัวทันที และวันที่ 16 มกราคม 2565 ทราบผลตรวจว่าติดเชื้อโควิด จึงเข้ารับการรักษาและกักตัวแล้ว
“ส่วนการดำเนินการกรณีบริษัทประกันภัยฟ้องให้ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนในคดีที่ศาลปกครองกลางแล้ว และบริษัทดังกล่าวยังมีหนังสือเรียกค่าทดแทนจากผมหลายพันล้านบาท อย่างไม่เป็นธรรมทั้งๆ ที่ศาลปกครองกลางยังไม่ได้มีคำพิพากษาว่าคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด แม้ผมจะป่วย แต่ผมจะสู้ไม่ถอยเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ โดยจะทำงานผ่านระบบออนไลน์เพื่อไม่ให้งานตรงนี้ได้รับผลกระทบครับ” – เลขาธิการ คปภ.
อีกสิ่งที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ข้อแรก จะเกิดช่วงเวลาสุญญากาศ ที่คำสั่งนายทะเบียนประกันไม่คุ้มครอง จากนั้นบริษัทประกันจะเร่งบอกเลิกการรับประกันโควิดทันที ทำให้ประชาชนที่ซื้อประกันต้องรับผิดชอบความเสี่ยงกันเองทั้งที่ทำประกันไว้แล้ว
ข้อที่สอง คำตัดสินของคดีนี้ ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใดย่อมเกิดบรรทัดฐานใหม่ของอุตสาหกรรมประกันภัย กรณีที่ให้บริษัทประกันภัยยกเลิกการรับประกันโควิดได้ ข้อนี้จะถูกใช้เป็นเหตุในกล่าวอ้างในอนาคต เช่น มีโรคระบาดใหม่ๆ แล้ววางแผนบริหารความเสี่ยงที่ผิดพลาด ก็สามารถใช้ข้อกฎหมายดังกล่าวบอกเลิกการรับประกัน ผลักภาระกลับไปให้กับประชาชนและผู้เอาประกันภัยได้
“ถ้าเมื่อใดที่ความเสี่ยงภัยเปลี่ยนไป แล้วบริษัทประกันภัยสามารถอ้างเหตุนี้มายกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้แบบเหมาเข่ง ก็ย่อมจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในระบบประกันภัยของโลก จนลุกลามกระทบต่อความเชื่อถือไว้วางใจของประชาชน แล้วเช่นนี้ประชาชนจะซื้อประกันภัยไปทำไม” – เลขาธิการ คปภ.
ส่วนความคืบหน้าที่เราต้องติดตามต่อในสัปดาห์นี้ คปภ.จะเชิญบริษัทประกันทั้ง 14 บริษัท ที่ขายประกันภัยโควิดแบบเจอ จ่าย จบ มาประชุมเพื่อทำความเข้าใจ และขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและมั่นใจว่าระหว่างที่ศาลปกครองกลาง ยังไม่มีคำวินิจฉัยอะไรในเรื่องนี้ออกมา
Fact : ข้อมูลจากสมาคมประกันวินาศภัยไทยถึงยอดเคลมประกันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค – ยอดเคลมประกันเจอจ่ายจบ จนถึงต้นปี 2565 ทะลุ 40,000 ล้านบาท – สถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อโอมิครอนเพิ่มขึ้นกว่า 2.5 เท่า จากยอดเดือน ธ.ค. 64 – เดือน มิ.ย. 65 เป็นช่วงที่กรมธรรม์โควิดเจอจ่ายจบส่วนใหญ่ 8-9 ล้านฉบับจะหมดอายุ – เงินสะสมมากว่า 5,600 ล้านบาท กองทุนประกันวินาศภัย อาจต้องกู้เพิ่มเติม |