
การส่งออกถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน รวมทั้งการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกต่อรัสเซีย ทำให้มีผลกระทบต่อการส่งออกทั้งทางเรืออย่างมาก แม้จะยังคงขยายตัวอยู่บ้างในช่วงก่อนเกิดสงคราม
ข้อมูลจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า ตัวเลขภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ก.พ.65 มีมูลค่าที่ 23,483 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวได้ 16.2% ได้รับอานิสงส์จากคำสั่งซื้อสินค้าทุกกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าที่มาจากช่วงปลายปีที่แล้วกับต้นปีนี้ 2564 ถึงต้นปี 2565 หรือช่วงก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน
คาดว่าในเดือนมี.ค.จะยังเติบโตต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 23,000-24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับปีก่อน ทำให้คาดว่าในไตรมาส 1/65 การส่งออกจะขยายตัว 8% เนื่องจากมีการยืนยันคำสั่งซื้อไว้แล้วล่วงหน้า
สำหรับผลกระทบจากสงครามที่หลายประเทศทั้งยุโรป อเมริกา และเชีย ต่างมีมาตรการตอบโต้รัสเซีย ทั้งด้านการค้าและการเงิน สรท.มองว่า อาจมีผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของต้นทุนภาคการผลิต ทั้งพลังงาน เหล็ก ปุ๋น เซมิคอนดักเตอร์
กรณีสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ
อาจกระทบต่อการส่งออกในไตรมาส 2/65 ทำให้คำสั่งซื้อลดลงประมาณ 4,000 – 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกของไทยในไตรมาส 2/65 ขยายตัว 2-4%
กรณีสถานการณ์ไม่ขยายวงกว้าง
ภายใต้ฐานการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกของไทยปีนี้ จะยังเติบโตได้ที่ 5% (ณ เมษายน 2565) มูลค่า 284,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 23,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตามคุณชัยชาญ มองว่า ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อภาคการส่งออกอยู่เช่นกัน ไล่เรียงตั้งแต่ รัสเซีย-ยูเครน การขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือประเทศปลายทาง และสถานการณ์โรคระบาด
สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย จึงมีข้อเสนอแนะถึงภาครัฐ หากต้องการรักษาระดับการส่งออกไว้ ดังนี้
- ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้ต่ำกว่า 33 บาท
- คงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%
- เสริมสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจ ภาคส่งออก นำเข้า ภาคบริการ
- เร่งมองหาช่องทางขยายตลาดเพิ่มเติม ทั้งกลุ่มตลาดศักยภาพระดับรองที่อาจเป็นโอกาส
- ขอให้ภาครัฐช่วยควบคุมต้นทุนภาคการผลิตตลอดโซ่อุปทาน อาทิ ค่าไฟ ค่าขนส่ง ค่าวัตถุดิบขั้นกลางสำหรับการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค
- หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาเรื่องความมั่นคงในด้านต่างๆมากขึ้น
ปัจจัยลบรุมเร้าเศรษฐกิจไทย เงินเฟ้อพุ่ง ทุกอย่างแพง
ขณะที่คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่าจะสามารถขยายตัวได้ในกรอบ 2.5- 4.0% จากเดิมที่คาดเคยการณ์ไว้ในรอบก่อน 2.5-4.5 % กระทั่งภาคการส่งออกที่เคยเป็นฮีโร่ชูโรงตอนนี้ก็อาจโตได้ในระดับ 3-5%
อีกส่วนที่ต้องจับตา คือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป กกร.มองว่า ปัจจัยสงครามสะท้อนมาถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ราคามีแนวโน้มทะยานสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุปทานน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ทั้งปี 2565 มีโอกาสที่จะได้เห็นราคาน้ำมันดิบอยู่เหนือ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลต่อถึงสินค้าในหมวดอาหารและพลังงาน จึงทำปรับคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึง 3.5 – 5.5% จากที่ก่อนหน้านี้เคยวางกรอบไว้ 2 – 3% เท่านั้น
อัตราเงินเฟ้อของไทยตอนนี้ มีแนวโน้มสูงที่สุดในรอบ 10 ปี หากดดูตัวเลขนี้จะใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่วางกรอบไว้ประมาณ 4.9% เมื่อใดที่เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมาก ยิ่งจะกดดันกำลังซื้อในประเทศ ผ่านการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า ราคาพลังงาน ราคาปุ๋ย จนทำให้ราคาอาหารสด ราคาอาหารสำเร็จรูปปรับตัวสูงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ที่ประชุมภาคเอกชน ยังได้มีข้อเสนอให้ภาครัฐยกเลิกมาตรการ Test&Go รวมถึง Thailand Pass ออกไปโดยเร็ว เนื่องจากการสำรวจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ระบุว่าระบบของ Test&Go เป็นขั้นตอนที่ล่าช้า ต้องใช้เอกสารจำนวนมากในการเข้าประเทศไทย ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการเดินทาง
ดังนั้นหากมีการพิจารณายกเลิกได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป เชื่อว่าตัวเลขรายได้จากภาคการท่องเที่ยว จะเริ่มฟื้นตัวกลับเพิ่มขึ้นมาหลายแสนล้านบาท รวมถึงผลักดันให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยได้มากกว่า 6 ล้านคน และเงินสะพัดอย่างน้อย 1.2 ล้านล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจโตเพิ่มขึ้นอีก 0.5%