
มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของชาติยุโรปตะวันตก อเมริกา และอีกหลายชาติในโลกนี้ ที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นการออกนโยบายและดำเนินการโดยหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลประเทศนั้นๆ ซึ่งเล็งหวังผลตัดกำลังทางเศรษฐกิจ และระบบการเงินของหมีขาว ซึ่งก็มีมาตรการออกมามากมายที่เป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อความเสียหายแก่รัสเซียได้อยู่ไม่น้อย ซึ่งรัสเซียก็มีมาตรการโต้กลับในหลายๆ ด้านทั้งการปิดน่านฟ้าห้ามบินผ่านดินแดน รวมทั้งการใช้ความได้เปรียบด้านการเป็นแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติและปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลกมาเป็นตัวประกัน ที่ก็ทำให้ประเทศต่างทั่วโลกได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมา
ไม่เพียงแค่มาตรการคว่ำบาตรจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ ที่ออกแรงกดดัน ภาคธุรกิจ และเอกชนนับร้อยบริษัททั่วโลกต่างก็สงสัญญาณ “แบน” หมีขาวกันพร้อมหน้า แม้จะต้องสูญเสียรายได้ หรือสูญเสียความได้เปรียบในตลาดแห่งนี้ก็ตาม แต่ไม่ใช่ว่าบริษัทเอกชนเหล่านี้จะไม่ประเมินผลกระทบความมั่งคั่ง แต่อาจจะประเมินผลกระทบเอาไว้แล้วว่า ตัดรัสเซียทิ้งไปในช่วงนี้ก่อนก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับธุรกิจสักเท่าไหร่
‘จอร์จ ลิปสกี้’ ผู้อำนวยการ GeoEconomics Center ประจำภูมิภาคแอตแลนติก กล่าวว่า มีอยู่ 2 ประการหลักๆ ที่ทำให้บริษัทข้ามชาติต่างๆ สามารถยุติการทำธุรกิจในรัสเซียได้แบบพร้อมเพียงกัน โดยมีข้ออ้างมาจากการต่อต้านการใช้ความรุนแรงกับยูเครน
ประการแรกคือ ความไม่แน่นอนในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของรัสเซีย เพราะการลงทุนและการค้าที่บริษัทต่างๆ จะต้องใช้เงินรูเบิลรัสเซียที่ค่าเงินร่วงลงอย่างรุนแรงนั้น ถือเป็นการตัดสินใจทางธุรกิจที่ได้ไม่คุ้มเสีย เมื่อค่าเงินรูเบิลร่วงหนักจนแทบจะไร้ค่าเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลหลักอื่นๆ ทำให้หลายธุรกิจเลือกที่จะยกเลิกการทำธุรกิจในช่วงนี้ ดีกว่าดันทุรังทำธุรกิจจำหน่ายสินค้าราคาแพงขึ้น แต่ความต้องการและกำลังซื้อลดลง
เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมต้องส่งรถยนต์หรือสมาร์ทโฟนไปรัสเซียทั้งที่ตลาดภูมิภาคอื่น มีความต้องการ และสามารถจำหน่ายในราคาสูงได้ทั้งในกลุ่มชาติตะวันตก หรือชาติอื่นๆ ที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และค่าเงินไม่ได้โดนทำลาย

อีกทั้งมาตรการลงโทษต่อภาคการธนาคารของรัสเซีย จากการถูกแบนจากระบบการโอนเงินข้ามประเทศหรือ SWIFT อาจทำให้ยากต่อการทำธุรกรรมทางการเงินและต้องเพิ่มงบประมาณมากกว่าเดิมเพื่อติดต่อทำการค้า และธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารรัสเซีย ซึ่งอาจจะได้ไม่คุ้มเสียเช่นกัน
รวมทั้งมีข้อจำกัดหนึ่งที่รัสเซียกำลังพยายามขจัดการพึ่งพาเงินทุนต่างชาติที่ทำให้เงินทองไหลออกจากประเทศ ซึ่งอาจหมายความว่าบริษัทต่างๆ จะไม่สามารถนำผลกำไรที่ได้รับในรัสเซียออกไปได้ง่ายๆ
“ธุรกิจต่างๆ ได้ตั้งถามกับตัวเองว่า ‘ฉันต้องการดำเนินธุรกิจต่อท่ามกลางสิ่งที่ฉันไม่รู้ว่าสัญญาทางธุรกิจที่ฉันลงนามในวันนี้ จะสามารถดำเนินการได้เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนในอนาคตหรือไม่’ โดยรวมแล้วระบบการเงินของรัสเซียทำให้เกิดความไม่แน่นอนมากเกินไป และธุรกิจก็ไม่ชอบความไม่แน่นอน และนี่คือความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในรัสเซีย”
“โดยทั่วไป หากธุรกิจมีโอกาสทำเงินต่อได้ พวกเขาจะลงทุนในตลาดต่อไป แต่ในตอนนี้มีความเห็นเป็นเอกฉันท์พร้อมเพียงกันว่าไม่เหมาะที่จะทำการค้า นั่นเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจที่ไม่เคยเห็นมาก่อน”
แม้แต่โฆษกรัฐบาลเครมลิน ‘ดมิทรี เปสคอฟ’ ก็ยอมรับว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัทข้ามชาติทั่วโลกกำลังก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแก่รัสเซีย
ส่วน ‘มิคาอิล มิชูสติน’ นายกรัฐมนตรีรัสเซีย ก็ได้กล่าวผ่านสำนักข่าวของรัฐบาลเครมลินอย่าง TASS และ RIA ว่ารัฐบาลรัสเซียกำลังพิจารณาขั้นตอนที่สามารถทำได้ เพื่อหยุดธุรกิจตะวันตกไม่ให้ดึงเงินทุนออกจากรัสเซีย
ประการที่สองคือ รัสเซียไม่ใช่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก แม้จะมีแผ่นดินขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กับจำนวนประชากรราว 146 ล้านคน ซึ่งมากเป็นอันดับ 9 ของโลก แต่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของรัสเซียราว 1.65 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังมีขนาดเล็กกว่าอิตาลีประมาณ 25% ที่ 2.12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เล็กกว่าแคนาดามากกว่า 20% ที่ 2.02 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเล็กกว่าเกาหลีใต้ราว 7% ที่ 1.82 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรเพียง 1.2 เท่า, 3.8 เท่า, และ 2.8 เท่าของรัสเซียตามข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
แม้รัสเซียจะมีอำนาจการต่อรองในฐานะผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกทั้งพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น ข้าวสาลี ไม้แปรรูป และโลหะต่างๆ เช่น อลูมิเนียม แต่ก็ส่วนใหญ่แล้วก็สามารถหาซื้อได้จากที่อื่นมาทดแทน

“มีทางเลือกอื่นๆ มากมาย บริษัทต่างๆ สามารถค้นหาตลาดและคู่ค้าอื่นๆ เหล่านั้น และปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ได้รับความไว้วางใจทั้งหมดต่อผู้ถือหุ้นของพวกเขา พวกเขาได้ตัดสินใจว่ารัสเซียไม่คุ้มกับความเสี่ยง” : ‘จอร์จ ลิปสกี้’
การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนั้นชัดเจนในการซื้อขายพลังงาน จนถึงตอนนี้มาตรการคว่ำบาตรจากหลายประเทศทางตะวันตกได้ยกเว้นภาคน้ำมันของรัสเซียแล้ว เพื่อหวังว่าจะป้องกันปัญหาการขาดแคลนและปรับขึ้นราคาในตลาดพลังงานโลก
แต่น้ำมันรัสเซียส่วนใหญ่ในตลาดโลกนั้นกำลังจะไร้คนซื้อ แม้จะมีส่วนลดมากมายก็ตาม เพราะผู้ค้าไม่แน่ใจว่าข้อตกลงใดที่พวกเขาทำกับบริษัทน้ำมันรัสเซียสามารถดำเนินการค้าน้ำมันได้หรือไม่ เนื่องจากการคว่ำบาตรอย่างหนักกับธนาคารรัสเซีย
การค้นหาเรือบรรทุกน้ำมันเพื่อให้เข้าเทียบท่าเรือรัสเซียเป็นเรื่องยากในเวลานี้ อีกทั้งบริษัทประกันภัยที่ไม่รับเคลมประกันอย่างเต็มใจกับเรือขนส่งที่เสี่ยงเข้าเทียบท่าเรือรัสเซียในช่วงนี้ ทั้งหมดนี้นักวิเคราะห์ด้านน้ำมันจาก Lipow Oil ระบุว่าเป็น “การห้ามโดยพฤตินัย” สำหรับการค้าน้ำมันของรัสเซีย
อย่างไรก็ตามผลกระทบที่อาจจะเป็นทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการทำธุรกิจก็คือ การปิดน่านฟ้ารัสเซียห้ามเครื่องทุกประเภทของชาติที่ออกตัวแรงแบนรัสเซียบินผ่าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินสัญชาติยุโรป อเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และชาติอื่นๆ อีกจำนวนไม่น้อย ซึ่งต้องยอมรับว่าน่านฟ้ารัสเซียมีอิทธิพลอย่างมากต่อระบบการบินของโลกอย่างยิ่ง
ผลที่ตามมาคือสายการบินเหล่านี้จำเป็นต้องเลี่ยงเส้นทางการบินผ่านรัสเซีย โดยใช้เส้นทางใหม่ที่ทั้งสิ้นเปลืองเวลา เชื้อเพลิง และต้นทุนการเดินทางหรือขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และส่งผลเป็นลูกโซ่กระทบต่อราคาสินค้า ต้นทุนการผลิต และกำลังซื้อของผู้บริโภคปลายทางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในหลายประเทศ

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ช่วงเวลาที่หลายแบรนด์ธุรกิจข้ามชาติต่างทิ้งรัสเซียไป หมีขาวจะใช้ช่วงเวลานี้พัฒนาธุรกิจภายในประเทศของตัวเองขึ้นมาทดแทนได้หรือไม่ เหมือนกับที่จีนได้พัฒนานวัตกรรม สินค้า และเทคโนโลยีหลายอย่างโดยไม่ต้องพึ่งพาชาติตะวันตก แถมยังสามารถต่อกรแข่งขันในโลกธุรกิจได้อีกด้วย
หากทำได้โลกใบนี้จะมีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้นไปอีกมาต่อสู้กันในตลาดการค้า แต่อุปสรรคสำคัญคือ อุปนิสัยของคนรัสเซียที่ไม่ใช่ “พ่อค้า” โดยดีเอ็นเอแบบจีนหรือ “เก่งไอที” แบบอินเดีย แถมมีประชากรน้อยกว่า กำลังซื้อน้อยกว่าประเทศทั้งสอง ก็อาจจะทำให้รัสเซียไม่สามารถใช้จังหวะนี้เพื่อพัฒนาภาคธุรกิจในระดับสินค้าเพื่อบุคคลได้หลากหลายและครอบคลุมจนทดแทนสินค้าจากต่างประเทศได้ทั้งหมด จากที่ปกติมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ อากาศยาน และเทคโนโลยีด้านอวกาศเป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั่นเอง
แหล่งอ้างอิง
CNN

10 ปีในอาชีพสื่อมวลชน ทั้งเบื้องหน้าและภาคสนาม วิ่งข่าวมาแทบทุกสาย แต่ลงเอยด้วยความชอบสายเศรษฐกิจ และต่างประเทศ เพราะโลกของข่าวสารไม่ได้อยู่ไกลเกินปลายนิ้วมือ อัพเดตมุมมอง ลงลึกในข้อมูลของทุกข่าวสารที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และอยากให้คุณสนใจ