
สภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศที่เวลานี้ถือว่า “เจ็บหนัก” ไปถ้วนหน้าทั่วโลกจากสงครามการค้าระหว่างจีน – สหรัฐ ประกอบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ที่เล่นเอาประเทศต่างๆ เป๋จนเกือบล้มระเนระนาดกันทั้งยวง ทำให้นาทีนี้ใครหาเงินเข้าประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ก่อนก็คงต้องงัดทุกวิถีทาง แม้ว่าจะต้องแก้กฎหมายที่เคยปกป้องธุรกิจในประเทศเพื่อดึงให้ต่างชาติเข้ามาครอบครองได้ ลดภาษีชนิดที่เรียกว่าใครเห็นก็หวานหมู อยากกระโดดตะครุบเข้าไปลงทุนแน่นอน
อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สองประเทศหมู่เกาะขนาดใหญ่ที่สุดของของอาเซียน ที่ถือได้ว่าโดนไวรัสเล่นงานหนักที่สุด และเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในอันดับหัวแถวของโลก จนพาเศรษฐกิจแย่ไปตามๆ กัน กำลังพยายามทำทุกวิถีทางในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาในประเทศให้ได้ ด้วยการเสนอสิทธิพิเศษต่างๆ ที่ล่อตาล่อใจ
อินโดนีเซียลดเหี้ยน ข้อจำกัดทำธุรกิจของต่างชาติจาก 300 เหลือ 48 ประเภท
เริ่มต้นที่อินโดนีเซียที่กลั้นใจยอมแก้เงื่อนไขในธุรกิจและอุตสาหกรรมบางประเภทที่เคยสงวนสิทธิ์ไว้ให้กับนักลงทุนภายในประเทศเท่านั้น เช่น พลังงาน การท่องเที่ยว และโทรคมนาคม ให้ต่างชาติสามารถเข้าครอบครองได้เพื่อกระตุ้นเม็ดเงินลงทุน และการจ้างงาน เพราะลำพังบริษัทในประเทศไม่มีกำลังมากพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกต่อไป
ก่อนหน้านี้มีธุรกิจและอุตสาหกรรมบางประเภทที่จำกัดการลงทุนจากต่างชาติถึง 300 ธุรกิจ แต่ล่าสุดได้ลดลงเหลือเพียง 48 ธุรกิจเท่านั้น ตามร่างกฎหมายกฤษฎีกาของประธานาธิบดี ที่ให้ดำเนินธุรกิจได้อย่าง “เสรี” แม้ว่าจะยังคงอยู่ภายใต้กฎระเบียบอื่นๆ ก็ตาม
ส่วนธุรกิจที่ห้ามต่างชาติเข้าไปลงทุน หรือถือหุ้นเลยเด็ดขาดก็ปรับลดจำนวนลงเช่นกันจาก 20 ธุรกิจ เหลือเพียง 6 ธุรกิจเท่านั้นได้แก่ ยา การพนัน การจับปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ การเก็บเกี่ยวผลผลิตจากปะการัง การผลิตอาวุธเคมี และสารเคมีทางอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ใช่ธุรกิจที่มีมูลค่าสูงเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ที่ให้ต่างชาติครอบครองได้
อย่างที่ทราบคือประเทศอินโดนีเซียนับเป็นหนึ่งในชาติที่เคยเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก และเคยอยู่ในสมาชิกกลุ่ม OPEC มาก่อน แต่หลังจากนั้นก็ได้หลุดจากการเป็นสมาชิกภาพไปเพราะไม่สามารถผลิตน้ำมันได้มากเพียงพอตามเกณฑ์ที่กลุ่มกำหนด และกลายเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมันมากกว่าการส่งออกแทน

รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียคือ “เปอร์ตามิน่า” ที่ครองตลาดการผลิตและจำหน่ายพลังงานจากปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติแต่เพียงผู้เดียวมายาวนาน กำลังจะพบเจอกับความท้าทายอย่างมาก ถ้าหากธุรกิจพลังงานมีผู้เล่นเจ้าอื่นๆ จะเข้าไปแข่งในตลาดอินโดนีเซียที่มีทรัพยากรใต้พิภพอย่างมหาศาล ซึ่งหนึ่งในคู่แข่งจากภูมิภาคอาเซียนที่น่ากลัวที่สุดก็คือ PTT หรือ ปตท. จากประเทศไทยนั่นเอง
ทั้งนี้รัฐบาลอินโดนีเซียยังวางแผนที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเพื่อการผลิตและส่งออก ในกลุ่มธุรกิจที่ใช้แรงงานจำนวนมาก โดยจะได้สิทธิพิเศษทางการเงินเป็นแรงจูงใจ เช่น การพักชำระภาษีชั่วคราว หรือการลดหย่อนภาษี ตลอดจนสิ่งจูงใจที่ไม่ใช่ทางการเงิน เช่น ความสะดวกในการออกใบอนุญาตธุรกิจ การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือการรับประกันความพร้อมของวัตถุดิบ เป็นต้น
แต่ถึงกระนั้นการถือครองของชาวต่างชาติจะยังคงถูกจำกัดในภาคส่วนที่เชื่อมโยงกับการขนส่ง การแพร่ภาพ และการเผยแพร่ข่าวสาร ตลอด จนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในขณะที่อุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงการธนาคารและการเงิน จะต้องได้รับใบอนุญาตพิเศษจากรัฐบาลตามร่างกฤษฎีกา กองทุน ทั่วโลกสามารถทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับมูลค่าการลงทุนที่สูงกว่า 10,000 ล้านรูเปียห์ (710,000 ดอลลาร์) เท่านั้น ยกเว้นการลงทุนในสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีในเขตเศรษฐกิจพิเศษตามร่างซึ่งปัจจุบันเปิดให้ข้อมูลสาธารณะ

ฟิลิปปินส์แก้รัฐธรรมนูญสู้ ดูดเงินต่างชาติ เปิดเสรีการค้าเต็มสูบ
ถ้าอินโดนีเซียจะเล่นใหญ่ขนาดนี้ มีหรือฟิลิปปินส์จะยอมน้อยหน้า ใครจะให้เพื่อนบ้านดึงดูดเม็ดเงินลงทุนไปอยู่ฝ่ายเดียว ล่าสุดฟิลิปปินส์เตรียมแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนดำเนินธุรกิจได้คล่องตัวมากขึ้นแล้ว
นายคาร์ลอส โดมิงเกซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า ได้เรียกร้องให้สภาคองเกรสฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญกับมาตรการที่ “ทำได้” เพื่อเป็นทางเลือกให้กับข้อเสนอแก้ไขกฎบัตร โดยเสนอให้ลดภาษีรายได้นิติบุคคลและเพิ่มแรงจูงใจในการดึงดูดการลงทุน เพื่อผ่อนปรนข้อจำกัดการเป็นเจ้าของกิจการสำหรับชาวต่างชาติตามรัฐธรรมนูญ
โดยเสนอให้มีการลดภาษีเงินได้ที่บริษัทต้องจ่าย ทำให้สิทธิพิเศษทางภาษีตรงเป้าหมายและยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งกำลังรอการอนุมัติร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

โดยกฎหมายใหม่นี้ก็เพื่อผ่อนปรนให้เป็นไป “ตามสมัยนิยม” รวมถึงรัฐบัญญัติการเปิดเสรีการค้าปลีก และกฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ฟิลิปปินส์ที่นับได้ว่าเป็นประเทศในกลุ่มที่อยู่ล้าหลังที่สุดของอาเซียนได้รับการลงทุนที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ประเทศที่เข้าไปลงทุนในฟิลิปปินส์มากสุดโดยคิดตามสัดส่วนเงินลงทุนทั้งหมด จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (Philippine Statistics Authority) ปี 2019 คือ
ประเทศที่เข้าไปลงทุนในฟิลิปปินส์มากสุด (2019)
สิงคโปร์ | จีน | เกาหลีใต้ | ญี่ปุ่น | เนเธอร์แลนด์ | สหรัฐอเมริกา | ไทย |
45.2% | 22.7% | 10.6% | 5.1% | 3.7% | 3% | 2.3% |
ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ลงทุนมากที่สุด
ข้อมูลและการสื่อสาร | 56.8% |
ไฟฟ้า ก๊าซ พลังงานไอน้ำและเครื่องปรับอากาศ | 18.6% |
อุตสาหกรรมการผลิต | 15.9% |
การบริการ การบริหาร และการสนับสนุน | 4.3% |
อสังหาริมทรัพย์ | 2.1% |
การขนส่งและการจัดเก็บสินค้า | 1.0% |
อย่างไรก็ตามการเปิดเสรีการลงทุนให้กับต่างชาติอย่างเต็มที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีคือ เม็ดเงินลงทุนจะไหลเข้าประเทศนั้นมากขึ้น ก่อให้เกิดการจ้างงาน และกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจ
แต่ข้อเสียคือธุรกิจในประเทศบางประเภทที่ยังอ่อนไหว มีโครงสร้างที่ไม่แข็งแรงจะได้รับผลกระทบจากการเข้าไปของต่างชาติ ซึ่งไม่สามารถแข็งขันกับทุนที่หนากว่าและมากกว่าได้อย่างแน่นอน ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นคือ ธุรกิจในประเทศอาจสู้ไม่ไหวและล้มหายตายจากไปในที่สุด โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และ Startup
ดังนั้นรัฐบาลแต่ละประเทศต้องดูเรื่องกฎหมายการคุ้มครองธุรกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศอย่างรัดกุม เพื่อให้รอดทั้งทุนภายในและภายนอก ไม่เช่นนั้นการลงทุนแบบนี้จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยนอกจากเป็นได้แค่ฐานการผลิตให้กับต่างชาติเพียงอย่างเดียว แต่ไม่สามารถพัฒนาธุรกิจภายในให้แข็งแกร่งได้ เหมือนกับเวียดนามที่โตได้ด้วยทุนต่างชาติ แต่ธุรกิจภายในยังไม่อาจแข็งแกร่งมากพอที่จะยืนหยัดสู้ได้ แม้แต่ในบ้านตัวเองก็ตาม
แหล่งอ้างอิง
Bloomberg
Bloomberg Quint
Santandertrade

10 ปีในอาชีพสื่อมวลชน ทั้งเบื้องหน้าและภาคสนาม วิ่งข่าวมาแทบทุกสาย แต่ลงเอยด้วยความชอบสายเศรษฐกิจ และต่างประเทศ เพราะโลกของข่าวสารไม่ได้อยู่ไกลเกินปลายนิ้วมือ อัพเดตมุมมอง ลงลึกในข้อมูลของทุกข่าวสารที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และอยากให้คุณสนใจ