
ทฤษฎีช้อน ถูกนำมาใช้ครั้งแรกตั้งแต่ในสมัยโซซอน (ค.ศ. 1392-1910) ซึ่งมาจากความเชื่อของชาวเกาหลีในช่วงเวลานั้นที่เชื่อว่า คนแต่ละคนต่างก็มีบุญวาสนาแตกต่างกัน และในตอนที่เกิดมาทุกคนต่างก็มีช้อนติดตัวมาด้วย
สังคมของเกาหลีใต้มีชนชั้นทางสังคมอยู่ทั้งหมด 4 ชนชั้นด้วยกัน โดยแต่ละชนชั้น ก็จะมีสัญลักษณ์เป็นช้อนที่มีลักษณะที่แตกต่างกันไป ซึ่งชนชั้นทั้ง 4 นี้ ประกอบไปด้วยคือ ช้อนทอง ช้อนเงิน ช้อนทองแดง และช้อนดิน

ชนชั้นช้อนทอง (Gold spoon)
คือกลุ่มคนที่เกิดมาร่ำรวยบนกองเงินกองทอง เหล่าลูกหลานของเศรษฐี หรือมหาเศรษฐีตระกูลต่างๆ ที่ครอบครองอาณาจักรทางธุรกิจมากมายมหาศาล มีรายได้มากกว่า 550 ล้านวอนต่อปี หรือราว 15 ล้านบาทขึ้นไป และมีทรัพย์สินสุทธิรวมกันมากกว่า 5,500 ล้านวอน หรือราว 150 ล้านบาท
ซึ่งคนกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วน 10% ของสังคมเกาหลีใต้ก็จริง แต่จะมีเพียงแค่ 1% เท่านั้นที่เป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างสูงที่สุด เพราะครอบครองอำนาจทางเศรษฐกิจไว้มากถึง 80% (38.2 ล้านล้านบาท) ของ GDP (48 ล้านล้านบาท) ซึ่งถ้าใครรับชมซีรีย์เกาหลีมักจะมีคำพูดที่ตัวละครกล่าวถึงกลุ่ม “แชโบล” อยู่บ่อยๆ

กลุ่มแชโบลก็คือ กลุ่มธุรกิจขนาดยักษ์ใหญ่หัวแถวของเกาหลีใต้ไม่กี่บริษัท เช่น Samsung, SK Group, Hyundai, LG, Lotte และบริษัทอื่นๆ อีกไม่กี่สิบแห่ง โดยตระกูลผู้เป็นเจ้าของธุรกิจในกลุ่มแชโบลเหล่านี้ก็มีธุรกิจย่อยๆ อื่นๆ ในเครืออีกมากมายกว่า 2,280 บริษัท ครอบคลุมทุกๆ สินค้าและบริการในเกาหลีใต้ และยังมีความเกี่ยวดองกันทางสายเลือดและเครือญาติข้ามบริษัทอีกด้วย เช่น ผู้ก่อตั้ง Samsung (อี บย็อง ช็อล) และ Hyundai (ชุง จู ยุง) ก็เป็นพี่น้องกัน และยังมีสายสัมพันธ์กับผู้ก่อตั้ง LG, Lotte Group (ชิน คย็อก โฮ) ในฐานะเครือญาติกันอีกด้วย
ยังไม่รวมรุ่นลูกรุ่นหลานที่ถือหุ้นข้ามบริษัทกันไปมา ซึ่งพูดง่ายๆ คือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลในเกาหลีใต้ก็เป็นญาติกันแทบทั้งนั้นนั่นเอง และคนกลุ่มนี้นอกจากจะร่ำรวยแล้ว ยังมีทั้งอำนาจ บารมี บริวาร และสิทธิพิเศษต่างๆ ในสังคมที่ใครๆ ก็ต่างอิจฉา
ชนชั้นช้อนเงิน (Silver spoon)
คือกลุ่มชนชั้นที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองและมีความเป็นอยู่สะดวกสบาย หรือคนไทยเรียกติดปากว่า “ชนชั้นกลาง” ได้แก่ พ่อค้าแม่ค้า พนักงานบริษัท ข้าราชการ รวมไปถึงผู้ที่มีการศึกษา กลุ่มคนเหล่านี้ จะมีรายได้ตั้งแต่ 80 ล้านวอน หรือราว 2.1 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป และมีทรัพย์สินสุทธิที่ 1,000 ล้านวอน หรือ 27 ล้านบาท
นับเป็นกลุ่มชนชั้นที่ใหญ่ที่สุดในสังคมเกาหลีใต้ราว 70% หรือทุกๆ ประเทศทั่วโลก มีอำนาจการซื้อรวมกันมหาศาล มีสิ่งอำนายความสะดวกสบายตามกำลังที่หามาได้ และเป็นผู้แบกภาระการเสียภาษีเงินได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลส่วนใหญ่ของประเทศ แต่กลับไม่ใช่กลุ่มคนที่เสียงดังหรือมีอำนาจในสังคม เพราะก็คือมนุษย์เงินเดือนทั่วไปที่ต้องทำงานเลี้ยงชีพตามปกติ บางคนได้อาศัยอยู่ในแฟลตที่ค่อนข้างดีและกว้างขวางราคาหลายสิบล้านร้อยล้านวอน เห็นวิวเมืองสวยงามหรือวิวแม่น้ำฮันแสนโรแมนติก

แต่บางคนก็อาศัยอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ ขนาดเพียง 7 ตารางเมตร ที่ไม่มีระเบียง มีห้องน้ำเล็กๆ แคบๆ ไว้ปลดทุกข์ เดินเพียง 2 – 3 ก้าวก็ถึงเตียงนอนที่ปลายเตียงก็ชนกับประตูห้อง สนนราคาห้องที่ 5 แสนวอน หรือราว 13,000 บาทต่อเดือน โดยมีเงินเดือนเฉลี่ยราว 72,000+ บาทขึ้นไป และค่าครองชีพต่อเดือนราว 37,000 – 45,000 บาท โดยไม่รวมภาษีสังคมและการท่องเที่ยว
ชนชั้นช้อนทองแดง (Copper spoon)
คือชนชั้นของประชากรที่มีรายได้น้อย มีฐานะค่อนข้างลำบาก และเป็นกลุ่มคนที่หาเช้ากินค่ำหรือมีรายได้เท่ากับเงินรายได้ต่อวันขั้นต่ำเท่านั้น เช่น คนขับรถประจำทาง พนักงานร้านอาหาร หรือ พนักงานร้านสะดวกซื้อที่ทำงานแบบทั้ง Full Time และ Part Time เป็นต้น มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 55 ล้านวอน หรือราว 1.5 ล้านบาทขึ้นไป มีรายได้สุทธิตั้งแต่ 500 ล้านวอน หรือราว 13 ล้านบาท

ชนชั้นช้อนดิน (Dirt spoon)
คือกลุ่มของชนชั้นแรงงานและกรรมกร ซึ่งถือเป็นชนชั้นล่างสุดในสังคมของเกาหลีใต้ มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 20 ล้านวอน หรือราว 5.5 แสนบาท รวมรายได้สุทธิ 110 ล้านวอน หรือราว 2.5 ล้านบาท
เป็นกลุ่มชนชั้นที่นอกจากรายได้ต่ำแล้วยังไม่ได้รับโอกาสให้ก้าวหน้าในสังคม ซึ่งในภาพยนต์หรือละครแนวเสียดสีสังคมของเกาหลีใต้มักหยิบยกเรื่องราวของกลุ่มคนในชนชั้นนี้มาสร้าง ซึ่งถ้าใครนึกภาพไม่ออกให้ลองนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง “Parasite” หรือชื่อไทยคือ “ชนชั้นปรสิต” ที่สะท้อนภาพชีวิตของกลุ่มคนกลุ่มนี้ในสังคมเกาหลีใต้ได้เป็นอย่างดี

ซึ่งกลุ่มชนชั้นช้อนดินมักไม่ค่อยมีปากมีเสียงอะไรในสังคม เป็นกลุ่มคนชายขอบที่ถูกละเลยใส่ใจ ทำได้เพียงแค่ก้มหน้าก้มตาหาเลี้ยงชีพไปวันๆ เนื่องจากอาจจะเรียนหนังสือมาน้อย เลยไม่มีโอกาสที่จะได้เจริญก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่นั่นเอง
ทั้งนี้ช่องว่างระหว่างชนชั้นในเกาหลีใต้นับวันจะยิ่งห่างออกไปอย่างชัดเจน นับตั้งแต่รัฐบาลของนายมุน แจ อิน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันขึ้นครองตำแหน่ง สะท้อนผ่านผลสำรวจความนิยมในตัวของนายมุนที่ตกต่ำลงอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุ 19 – 29 ปี ที่ลดลงจาก 90% เหลือเพียง 44% ตั้งแต่กลางปี 2017 จากกลุ่มผู้สนับสนุนกลับกลายเป็นกลุ่มคนที่ต่อต้านประธานาธิบดีมุน เพราะตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้งปัญหาปากท้อง และอัตราการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้น
หนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้ที่อายุ 20 – 30 ปี ต้องประสบภาวะตกงานกันมากเป็นประวัติการ สถิติคนว่างงานพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว คนหนุ่มสาวของเกาหลีใต้ว่างงานเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน การที่จบจากมหาวิทยาลัยชื่อดังก็ไม่ได้การันตีว่าพวกเขาจะได้งานที่ดีทำ หลายคนต้องทำงานพาร์ทไทม์ไปเรื่อยๆ จนอายุย่างเข้าเลข 3 ก็ยังมี

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตั้งแต่ประธานาธิบดีมุน แจ อิน เข้ารับตำแหน่ง ความไม่เท่าเทียมและช่องว่างทางสังคมได้เพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากตัวเลขความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่เพิ่มขึ้น คนรายได้สูงมีรายได้มากกว่าคนรายได้น้อยถึง 5.5 เท่า แม้จะมีนโยบายแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม และลดอัตราการว่างาน ซึ่งชูเป็นนโยบายตอนหาเสียงไว้ แต่ก็ไม่สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติ
ทั้งนี้เกาหลีใต้มีนโยบายในการส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ Start up และ SMEs เพื่อลดการพึ่งพากลุ่มทุนยักษ์ของประเทศที่เป็นเสาหลักค้ำยันเศรษฐกิจ แต่นโยบายนี้ยังคงต้องใช้เวลาอีกและเงินทุนมหาศาลกว่าจะสร้างธุรกิจสักตัวให้ขึ้นมาทัดเทียมกับทุนใหญ่ได้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าช่องว่างระหว่างชนชั้นจะขยายออกไปอีกมากขนาดไหน ที่จะกดดันให้ผู้คนต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด ท่ามกลางประเทศที่มีแรงกดดันในการทำงานและใช้ชีวิต รวมทั้งมีอัตราความเครียดจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

10 ปีในอาชีพสื่อมวลชน ทั้งเบื้องหน้าและภาคสนาม วิ่งข่าวมาแทบทุกสาย แต่ลงเอยด้วยความชอบสายเศรษฐกิจ และต่างประเทศ เพราะโลกของข่าวสารไม่ได้อยู่ไกลเกินปลายนิ้วมือ อัพเดตมุมมอง ลงลึกในข้อมูลของทุกข่าวสารที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และอยากให้คุณสนใจ