
ความตึงเครียดกําลังเพิ่มขึ้นรอบ ๆ แคว้นคาลินินกราด เขตการปกครองของสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลบอลติก ซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่นอกแผ่นดินของประเทศรัสเซียซึ่งถูกรายล้อมด้วยประเทศอื่นๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรป และสมาชิกนาโต้
แต่ดินแดนแห่งนี้มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์บนชายฝั่งทะเลบอลติกซึ่งอาจถูกลากเข้าสู่สงครามของเครมลินในไม่ช้า
หลังจากที่ลิทัวเนียสั่งห้ามการขนส่งสินค้าทางรถไฟที่ถูกคว่ำบาตรโดยกลุ่มสมาชิกอียู ข้ามดินแดนของตนและเข้าสู่คาลินินกราด รัสเซียก็มีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างเดือดดาล แต่ลิทัวเนียกล่าวว่านี่เป็นเพียงการสนับสนุนการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป และการขนส่งสินค้าทางรถไฟจากรัสเซียผ่านลิทัวเนียสัดส่วนเพียงแค่ 1% ของมูลค่าการขนส่งทั้งหมดเท่านั้น
ถึงแม้ว่าคาลินินกราด จะเป็นเพียงแค่แคว้นเล็กๆ พื้นที่ไม่ได้ใหญ่ไปกว่าจังหวัดน่านของประเทศไทย และมีประชากรไม่ถึง 1 ล้านคน แต่ความสำคัญของคาลินินกราดต่อประวัติศาสตร์และความั่นคงของรัสเซียนั้น ถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว

จากอดีตเมืองหลวงอาณาจักรปรัสเซีย
คาลินินกราดเป็นดินแดนแทรก (Exclave) ของรัสเซียที่คั่นกลางระหว่างโปแลนด์และลิทัวเนีย ถูกยึดครองโดยกองทหารโซเวียตจากนาซีเยอรมนีในเดือนเมษายน พ.ศ. 2488 และจากนั้นก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนโซเวียตอันเป็นผลมาจากข้อตกลงพอทสดัม และถูกเปลี่ยนชื่อจาก ‘เคอนิชส์แบร์ค’ (Königsberg) ซึ่งเป็นอดีตเมืองหลวงของอาณาจักรปรัสเซีย หรือประเทศเยอรมนีในปัจจุบันในปี 1946
เป็นเวลาหลายทศวรรษที่คาลินินกราดเป็นภูมิภาคที่มีกิจกรรมทางทหารอย่างหนาแน่น และไม่ค่อยเปิดรับชาวต่างชาติ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคาลินินกราดได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม หลังจากที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพการแข่งขันในช่วงฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งคาลินินกราดก็เป็นหนึ่งในสนามการแข่งขันด้วยเช่นกัน

แค้วนแห่งนี้มีประชากรประมาณหนึ่งล้านคนซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในหรือใกล้กับเมืองหลวงที่มีชื่อเดียวกัน ซึ่งภูมิภาคแห่งนี้นับว่ามีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก เพราะเป็นที่ตั้งของท่าเรือสำคัญของรัสเซียซึ่งก็คือ ‘Baltiysk’ ซึ่งเป็นท่าเรือทางตะวันตกสุดในดินแดนรัสเซียและเป็นท่าเรือในทะเลบอลติกเพียงแห่งเดียวของประเทศ ที่สำคัญคือน่าน้ำแห่งนี้ปราศจากน้ำแข็งตลอดทั้งปี
ถนนในเมืองหลักเรียงรายไปด้วยตัวอย่างที่ยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรมเยอรมันเก่าแก่ควบคู่ไปกับบล็อกอพาร์ตเมนต์ในยุคโซเวียตที่เป็นคอนกรีตทรงกล่องเรียบๆ
แต่ความสำคัญของคาลินินกราดส่วนใหญ่มาจากที่ที่มันอยู่บนแผนที่ ผืนดินเล็กๆ ทางตอนใต้ของคาลินินกราดที่แยกมันออกจากเบลารุสและเชื่อมต่อดินแดนโปแลนด์และลิทัวเนีย ที่เรียกว่าทางเดิน ‘Suwalki’ เป็นเส้นทางการเชื่อมโยงทางบกเพียงแห่งเดียวระหว่างรัฐบอลติกและส่วนที่เหลือของสหภาพยุโรป
คาลินินกราดยังเป็นสำนักงานใหญ่ของกองเรือบอลติกรัสเซีย ‘RIA Novosti’ ซึ่งมีรายงานว่ากองเรือดังกล่าวได้เริ่มการฝึกซ้อมจรวดและขีปนาวุธที่วางแผนไว้ก่อนหน้านี้ โดยเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 1,000 คน ซึ่งรวมทั้งหน่วยทหารและอุปกรณ์พิเศษของหน่วยปืนใหญ่และขีปนาวุธมากกว่า 100 หน่วยมีส่วนร่วมในการซ้อมรบ

แคว้นคาลินินกราดมีความสำคัญต่อประเทศรัสเซียในทางยุทธศาสตร์สำหรับการเป็นด่านหน้าอันทรงพลังของประเทศ
ในยุคของสงครามเย็นแคว้นคาลินินกราดเปรียบเสมือนป้อมปราการที่คอยสอดส่องความปลอดภัยให้แก่กองทัพทหารโซเวียต และยังเป็นฐานทัพเรือและฐานทัพอากาศที่แข็งแกร่งในภูมิภาคทะเลบอลติก
แต่หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต แคว้นคาลินินกราดกลายเป็นเมืองปิดชาวต่างชาติไม่สามารถเข้าไปเยี่ยมชมภายในเมืองได้ อีกทั้งชาวคาลินินกราดยังถูกจำกัดการเดินทางออกนอกพรมแดน
หลังจากปี ค.ศ. 1991 รัฐบาลกลางได้ทำการเปิดแคว้นคาลินินกราดและมีความร่วมมือกับประเทศข้างเคียงในภูมิภาคมากขึ้นนำไปสู่การติดต่อระหว่างกันในด้านต่างๆ เช่น การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและความร่วมมือทางธุรกิจการลงทุน ด้วยข้อจำกัดเรื่องวีซ่าที่มีความผ่อนปรนมากขึ้น
แคว้นคาลินินกราดมีศักยภาพในการเป็นเครื่องมือถ่วงดุลอำนาจของตะวันตกที่เข้ามาคุกคามรัสเซียในด้านการเมืองและการทหาร การดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัสเซียต่อประเทศอื่น ๆ ทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาค หากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเห็นว่ามีท่าทีเสียผลประโยชน์ ก็จะทำการตอบโต้รัสเซียด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การวางขีปนาวุธใกล้เขตการปกครองของรัสเซีย การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และอื่น ๆ
แคว้นคาลินินกราดมีความสำคัญต่อรัสเซียในการเป็นด่านหน้าของประเทศที่คอยคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ทางการเมืองต่าง ๆ โดยรัสเซียได้มีการเสริมสร้างศักยภาพทางการทหารในแคว้นคาลินินกราดมาตั้งแต่ในสมัยสหภาพโซเวียต เพื่อให้กองทัพเตรียมพร้อมสำหรับการทำภารกิจต่าง ๆ

พื้นที่ใหม่จุดชนวนความคัดแย้งวิกฤตสงครามยูเครน
นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนในปลายเดือนกุมภาพันธ์ผู้เชี่ยวชาญกลัวว่า คาลินินกราดอาจกลายเป็นพื้นที่จุดชนวนความตึงเครียดระหว่างมอสโกและยุโรป
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา Dmitry Peskov โฆษกเครมลินกล่าวว่า การที่ลิทัวเนียจะปิดกั้นการขนส่งสินค้าจากรัสเซียเข้าสู่คาลินินกราดโดยต้องผ่านดินแดนของลิทัวเนียนั้น รัสเซียมองว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการปิดล้อมและขู่ว่าจะตอบโต้ต่อการกระทำดังกล่าว
Nikolai Patrushev เลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหพันธรัฐรัสเซียกล่าวว่า “รัสเซียจะตอบสนองต่อการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์เช่นนี้อย่างแน่นอน มาตรการกําลังดำเนินการในรูปแบบระหว่างแผนกและจะดำเนินการในอนาคตอันใกล้นี้ ผลที่ตามมาของพวกเขาจะส่งผลกระทบเชิงลบอย่างร้ายแรงต่อประชากรลิทัวเนีย”
ตามรายงานของสำนักข่าว TASS ของรัสเซียโดยอ้างถึงกระทรวงการพัฒนาเศรษฐกิจ ระบุว่า สินค้าที่ถูกคว่ำบาตรถูกห้ามไม่ให้ส่งออกไปยังดินแดนรัสเซียโดยสหภาพยุโรป รวมถึงเครื่องจักรก่อสร้าง เครื่องมือเครื่องจักร และอุปกรณ์อุตสาหกรรมอื่นๆ รวมทั้งสินค้าฟุ่มเฟือยบางอย่างด้วย

การปรากฏตัวของอาวุธนิวเคลียร์
ความสำคัญของคาลินินกราดต่อรัสเซียยิ่งมากขึ้น หลังจากที่สวีเดนและฟินแลนด์มีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต Dmitry Medvedev รองประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติรัสเซียกล่าวในเดือนพฤษภาคมว่า แผนการเข้าร่วมนาโต้ของทั้งสองประเทศนี้หมายความว่า “จะไม่สามารถพูดคุยเจรจาได้อีกต่อไปสำหรับการเป็นเขตปลอดนิวเคลียร์ของทะเลบอลติก”
ที่ผ่านมารัสเซียคัดค้านมาตลอดกับการให้มีรัฐสมาชิกนาโต้อยู่รอบๆ คาลินินกราด เพราะหวั่นเกรงว่าจะมีการเคลื่อนย้ายระบบอาวุธยุทโธปกรณ์หรือการเข้ามาติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานทางทหารของนาโต้ใกล้ชายแดนรัสเซีย ซึ่งรัสเซียก็ใช้เป็นข้ออ้างในการเคลื่อนย้ายขีปนาวุธ Iskander ที่ติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ไปประจำการในคาลินินกราด

แต่กระนั้นรัสเซียไม่ยอมรับว่ามีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในคาลินินกราด แต่ในปี 2018 สหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกันได้ข้อสรุปว่ารัสเซียได้ปรับปรุงบังเกอร์เก็บอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคนี้อย่างมีนัยสําคัญโดยอาศัยการวิเคราะห์ภาพถ่ายจากดาวเทียม
คาลินินกราดไม่เพียงแค่เป็นจุดยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางทหารของรัสเซียเท่านั้น ยังเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย แต่เมื่อสถานการณ์คว่ำบาตรต่อรัสเซียหนักข้อขึ้น ดินแดนติ่งรัสเซียแห่งนี้คงจะกลายเป็นหนึ่งในสมรภูมิสุมไฟให้กับสงครามครั้งนี้เพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ ก็คงต้องรอดูกันต่อไป
แหล่งอ้างอิง

10 ปีในอาชีพสื่อมวลชน ทั้งเบื้องหน้าและภาคสนาม วิ่งข่าวมาแทบทุกสาย แต่ลงเอยด้วยความชอบสายเศรษฐกิจ และต่างประเทศ เพราะโลกของข่าวสารไม่ได้อยู่ไกลเกินปลายนิ้วมือ อัพเดตมุมมอง ลงลึกในข้อมูลของทุกข่าวสารที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และอยากให้คุณสนใจ