
ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมากลิ่นของการที่กองทัพเมียนมาจะเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี หลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2563 ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ภายใต้การนำของนางอองซาน คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 อย่างถล่มทลาย และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยที่ 2
เหตุผลสุดคลาสสิคที่มักใช้กล่าวอ้างของกองทัพเพื่อเข้าทำการรัฐประหารคือ กองทัพเมียนมา ภายใต้พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือ USDP ซึ่งแพ้การเลือกตั้งอย่างราบคาบ ได้ออกมายืนกรานว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีการ “ทุจริต” และเรียกร้องให้รัฐบาลเลื่อนการเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ที่กำหนดไว้ในวันที่ 1 กุภาพันธ์ 2564 ออกไปก่อน
แต่รัฐบาลของนางอองซาน ก็ไม่ได้สนใจและพร้อมเปิดสมัยประชุมสภาซึ่งจริงๆ แล้วจะต้องเกิดขึ้นในวันนี้ แต่สุดท้ายตั้งแต่เช้าตรู่ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาได้ก่อการรัฐประหาร ควบคุมตัวผู้นำฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งตัดสัญญาณการสื่อสารต่างๆ ควบคุมสื่อ และมอบให้รองประธานาธิบดี มิน ส่วย (ซึ่งเป็นอดีตนายพล) ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นการชั่วคราว

เกิดอะไรขึ้นกับเมียนมาต่อการรัฐประหารในครั้งนี้?
รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองของประเทศอาเซียนให้ความเห็นผ่านโพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า
เราต้องเข้าใจ #สมการแห่งอำนาจ ในเมียนมา
เท่าที่ผมพอจะเข้าใจคือ เดิม NLD และกองทัพต่างก็ต้องหวังพึ่งซึ่งกันและกัน แต่ในระยะหลังกองทัพเองก็ไม่ได้มีความเป็นเอกภาพมากนัก
ในอดีตกองทัพสนิทสนมกับจีน ว่าด้วยผลประโยชน์หลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงทรัพยากร แต่ในระยะหลัง เมื่อเมียนมาเปิดประเทศ ต่างชาติกลุ่มใหม่เข้ามามากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์เรื่อง ชนกลุ่มน้อยโกก้างในรัฐฉาน ติดชายแดนจีนทำให้หลายฝ่ายมองจีนเป็นภัยความมั่นคง
อีกด้านของพรมแดน ทางตะวันตก ปัญหาเรื่องเบงกาลี – โรฮิงญา ที่ชาติตะวันตกเข้ามาแทรกแซงก็ทำให้ หลายๆ ฝ่ายในประเทศกังวล
กองทัพคบจีนก็น่ากังวล รัฐบาลคบตะวันตกก็น่ากังวล ดังนั้นกองทัพกับรัฐบาลที่เคยต้องพึ่งพากันเหมือนเครื่องหมาย หยิน – หยาง ที่ต่างกัน ตรงกันข้ามกัน แต่ต้องอยู่ด้วยกัน ถ่วงดุลกัน จึงเสียสมดุล
ประกอบกับ ในกลุ่มกองทัพเอง ระหว่างกลุ่มอาวุโส กับกลุ่มรุ่นใหม่ ก็ดูจะไม่เป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อก่อนอาจจะอยู่ด้วยกันได้ แต่ภายหลังเองหลังจากที่กองทัพบางหน่วยได้รับการสนับสนุนจากอินเดีย (ซึ่งเป็นพันธมิตรสหรัฐ ในยุทธศาสตร์ อินโด – แปซิฟิก และเป็นคู่กรณีกับจีน) โดยเฉพาะเรื่องเรือดำน้ำ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลเองก็ได้รับการสนับสนุนเรื่องวัคซีนโควิดจากอินเดีย

นั่นทำให้ดุลอำนาจ และการพึ่งพาระหว่างจีน ตะวันตก และผู้เล่นใหม่คือ อินเดียเสียสมดุล และสมดุลเดิมระหว่าง NLD และกองทัพ (ซึ่งมี USDP เป็นตัวแทน) ก็เสียสมดุล เพราะกองทัพมีความแตกตัวออกเป็นกลุ่มๆ กลุ่มนายทหารอาวุโส (สนิทจีน) กลุ่มทหารรุ่นใหม่ที่ยอมรับ NLD มากขึ้น กลุ่มทหารที่ต้องการคบคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่จีน
และจากประวัติศาสตร์เมื่อเสถียรภาพในกองทัพไม่มี การออกมาแสดงกำลังมักจะเกิดขึ้น เช่น หลัง 8888 (เป็นการกำเริบระดับชาติเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศพม่า เมื่อ ค.ศ. 1988 การก่อการกำเริบนี้เริ่มขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1988 และจากวันที่นี้ (8-8-88) ทำให้เหตุการณ์นี้มักเป็นที่รู้จักในชื่อ “การก่อการกำเริบ 8888”) ทหารฝ่าย พลเอก เนวิน ถูกโค่นโดยฝ่ายตานฉ่วย
หรือในช่วงทศวรรษ 2000 ที่นายพล ตานฉ่วยก็โค่นตัวแทนของตนเองอย่างโซ่วิ่น – หม่องเอ แล้วแต่งตั้งนายพล เต็งเส่ง”
และในอนาคตอันใกล้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มิน อ่อง ลาย ก็กำลังจะเกษียณอายุ ในเดือนกรกฎาคมนี้ ดังนั้นการที่จะต้องกระชับอำนาจ ถ้าจะต้องทำก็ต้องรีบทำตอนนี้

การกล่าวอ้างของทางกองทัพเมียนมาในเรื่องข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพรคครัฐบาลยังไม่ยอมประการศผลนับคะแนนการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งหลังจากมีการเลือกตั้งเสร็จสิ้นไปแล้วและวันนี้จะเปิดประชุมสภาฯ แต่ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการก็ยังไม่มีการประกาศออกมาแต่อย่างใด
และเชื่อว่ามีการโกงคะแนนกว่า 10.5 ล้านเสียง ที่มาจากผู้มีสิทธิ์ที่ไม่มีตัวตนจริง
นั่นทำให้กองทัพจะเข้ายึดอำนาจเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเป็น 1 ปีตามที่พูดจริงหรือไม่ เพราะประวัติศาสตร์การรัฐประหารเมื่อยึดแล้วก็ใช่ว่าจะยอมคืนอำนาจกันง่ายๆ ดังเช่นการยึดอำนาจในเมียนมาครั้งก่อนก่อนๆ ที่กองทัพยึดอำนาจรวมๆ ครั้งที่ 1 ปี 2505 – 2532 และครั้งที่ 2 ปี 2532 – 2554 รวม 49 ปี

สถานการการณ์ในเวลานี้ยังอยู่ท่ามกลางความสับสน
เจ้าหน้าที่จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ยืนยันว่า นางอองซานได้ถูกกองทัพควบคุมตัวแล้วตั้งแต่เช้ามืดวันนี้ ชั่วโมงต่อมานักการเมืองและนักเคลื่อนไหวต่างทยอยถูกควบคุมตัว
เครือข่ายมือถือและอินเทอร์เน็ตหยุดให้บริการในเมืองใหญ่ ๆ ในเมียนมาร์ และนักข่าวท้องถิ่นบางคนก็หลบซ่อนตัวเพราะกลัวว่าการรายงานของพวกเขาอาจส่งผลต่อความปลอดภัย
เที่ยวบินภายในประเทศถูกระงับและสนามบินนานาชาติหลักในย่างกุ้งซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในเมียนมาร์ถูกปิดลง
ครั้งเมื่อมีการประกาศว่าเมียนมาร์จะเข้าสู้เส้นทางของประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้งเมื่อปี 2558 ได้รับการยกย่องว่า เป็นกรณีที่หาได้ยากมากที่นายพลซึ่งเป็นรัฐบาลทหารยึดอำนาจจะยอมมอบอำนาจบางส่วนให้กับพลเรือนโดยเคารพผลการเลือกตั้ง เนื่องจากนางอองซานที่เป็นผู้นำพรรคต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการถูกจองจำอยู่ภายในบ้านพักของตัวเองจากการต่อต้านทางการเมืองกับทหาร และสนับสนุนพรรค NLD
จนกระทั่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2554 กองทัพซึ่งเริ่มการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปสู่สิ่งที่เรียกว่า“ ประชาธิปไตยที่เฟื่องฟูอย่างมีระเบียบวินัย” ในขณะที่เริ่มวิวัฒนาการทางการเมืองเมียนมาร์ได้รับการยกย่องจากรัฐบาลตะวันตกรวมถึงรัฐบาลของนายบารัค โอบามา อดีตผู้นำสหรัฐว่า เป็นสัญญาณประชาธิปไตยในโลกที่ลัทธิเผด็จการกำลังเพิ่มขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่เคยราบรื่นเหมือนดังเทพนิยาย
แม้จะผ่านพ้นการเลือกตั้งครั้งแรกมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่กองทัพยังคงมีบทบาทในรัฐฐาล เพื่อทำให้แน่ใจว่าจะรักษาอำนาจสำคัญไว้สำหรับตัวเอง 1 ใน 4 ของรัฐสภาเต็มไปด้วยชายในเครื่องแบบทหาร กระทรวงสำคัญอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพ
ฟากฝั่งของรัฐบาลวอชิงตัน โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ฝ่ายบริหารของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐเรียกร้องให้ “ทหารและฝ่ายต่างๆ ยึดมั่นในบรรทัดฐานของประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม และปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวในวันนี้ สหรัฐฯ คัดค้านความพยายามใดๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงผลของการเลือกตั้งเมื่อเร็วๆ นี้ หรือขัดขวางการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยของเมียนมาและจะดำเนินการกับผู้ที่รับผิดชอบหากขั้นตอนเหล่านี้ไม่ได้รับการตอบสนอง”
ในเวลานี้ยังคงเร็วเกิดไปที่จะคาดเดาว่าสถานการณ์ในเมียนมาจะส่งผลกระทบอย่างไรกับประเทศไทย เพราะทั่วโลกยังคบจับตาสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้เช่นกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในเมียนมาต้องสะดุดอีกครั้ง และไม่รู้ว่าครั้งนี้จะสะดุดนานอีกเท่าไหร่
แหล่งอ้างอิง
The New York Time
Piti Srisangnam

10 ปีในอาชีพสื่อมวลชน ทั้งเบื้องหน้าและภาคสนาม วิ่งข่าวมาแทบทุกสาย แต่ลงเอยด้วยความชอบสายเศรษฐกิจ และต่างประเทศ เพราะโลกของข่าวสารไม่ได้อยู่ไกลเกินปลายนิ้วมือ อัพเดตมุมมอง ลงลึกในข้อมูลของทุกข่าวสารที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และอยากให้คุณสนใจ